สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 67 ภายใต้บังคับมาตรา 66 นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น


 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12776/2558 โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้แทนนิติบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการส่วนจังหวัดในเขตจังหวัดตามมาตรา 7 ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการนี้ย่อมหมายรวมถึงอำนาจติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของรัฐที่อยู่ในเขตจังหวัดที่อยู่ในความดูแล ตลอดจนมีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามสิทธิและหน้าที่ที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 66 และ 67 ด้วย เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการทำโดยละเมิดต่อโจทก์โดยตรง โจทก์โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ โดยไม่จำต้องรับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดอีก

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11315/2553 จำเลยนำคำว่า "โต๊ะกัง" ซึ่งเป็นชื่อนิติบุคคลโจทก์ที่ 1 และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลจำเลยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 และยังคงใช้ชื่อดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงวันฟ้อง อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อเนื่องกันฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อโจทก์ทั้งสองใช้คำว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" ซึ่งเป็นชื่อปู่โจทก์ที่ 2 เป็นชื่อนิติบุคคลและเครื่องหมายการค้ากับการค้าทองมานานกว่า 50 ปี จนมีชื่อเสียงก่อนที่จะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลย โจทก์ที่ 1 แม้เป็นนิติบุคคลย่อมมีสิทธิในการใช้นามว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 67 และมาตรา 18 การที่จำเลยประกอบกิจการค้าทองโดยใช้ชื่อว่า "บริษัทห้างค้าทองโต๊ะกังเยาวราช ดิ โอล์ด สยาม จำกัด" ซึ่งมีคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อบริษัทจำเลย ย่อมทำให้เกิดความสับสนหลงผิดว่ากิจการค้าของจำเลยเกี่ยวข้องกับการค้าทองของโจทก์ทั้งสอง อันทำให้โจทก์ทั้งสองต้องเสื่อมเสียประโยชน์แม้ว่าชื่อนิติบุคคลจำเลยจะประกอบด้วยคำอื่นนอกเหนือจากคำว่า "โต๊ะกัง" และโจทก์ที่ 1 กับจำเลยจะเป็นนิติบุคคลคนละประเภทก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิใช้คำว่า "โต๊ะกัง" เป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อบริษัทจำเลย และการที่นายทะเบียนของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครยินยอมจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยเป็นนิติบุคคลโดยใช้ชื่อดังกล่าว ก็เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และความเห็นของนายทะเบียน แต่ไม่ได้หมายความว่าการดำเนินการของนายทะเบียนดังกล่าวจะก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะใช้ชื่อบริษัทจำเลยเสมอไป หากการใช้ชื่อบริษัทจำเลยก่อให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลและนิติบุคคลอื่นที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 67 และมีการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอความคุ้มครองแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยระงับความเสียหายและร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยกระทำการดังกล่าวได้ โดยมีอำนาจฟ้องห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อที่มีคำว่า "โต๊ะกัง" รวมอยู่ด้วย และการที่จำเลยนำคำว่า "โต๊ะกัง" ซึ่งเป็นชื่อนิติบุคคลห้างโจทก์ที่ 1 มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยโดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้จนเป็นเหตุให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 18 จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6557/2541 ผู้ร้องร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกโดยอ้างสิทธิเป็นผู้รับพินัยกรรมส่วนผู้คัดค้านที่ 5 คัดค้านว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ทั้งผู้คัดค้านที่ 5กล่าวอ้างว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 5เป็นผู้จัดการมรดกและยกทรัพย์มรดกครึ่งหนึ่งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 ตามพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่ง ผู้ร้องไม่ใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก จึงไม่มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ คดีจึงมีประเด็นว่าพินัยกรรมทั้งสองฉบับดังกล่าวนั้น ฉบับใดเป็นฉบับแท้จริงและผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้มีส่วนได้เสียอันสมควรตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกหรือไม่ กรณีเป็นเรื่องวิธีจัดการมรดกเท่านั้น หาได้มีข้อโต้แย้งในระหว่างผู้รับมรดกแต่อย่างใดไม่ แม้ข้อกำหนดพินัยกรรมระบุให้ถวายทรัพย์มรดกแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฟ้องและโต้แย้งสิทธิต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิใช่เป็นเรื่องที่มีการกล่าวอ้างว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอันจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่ประการใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 66 และ 67 นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาเว้นเสียแต่สิทธิและหน้าที่นั้นไม่อยู่ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ของตนดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง หรือโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น ซึ่งสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นโดยสภาพมิใช่สิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดา และบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1718 ย่อมนำมาใช้แก่นิติบุคคลได้เท่าที่ไม่ขัดกับสภาพของนิติบุคคลดังนั้น เมื่อไม่มีบทกฎหมายใดที่ห้ามนิติบุคคล มิให้เป็นผู้จัดการมรดก ประกอบกับผู้ร้องเป็นผู้รับพินัยกรรมด้วยอีกทั้งตามตราสารจัดตั้งมูลนิธิของผู้ร้องได้ระบุไว้ในข้อ 5ว่า มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีดังต่อไปนี้ ข.ทรัพย์สินซึ่งมีผู้ยกให้เป็นพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่น ๆ โดยไม่มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดในหนี้สินแต่ประการใด การตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ จึงอยู่ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่และไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งมูลนิธิของผู้ร้อง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ 2ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 เนื่องจากผิดหลง เพราะผู้คัดค้านที่ 2ยื่นอุทธรณ์พ้นระยะเวลาอุทธรณ์ตามกฎหมาย โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ไม่รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีสำหรับผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่ชอบ และเป็นกรณี ที่ศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คดีไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษา ใหม่แต่อย่างใดอีกโดยพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะส่วนคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ 2

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8747/2542 โจทก์เป็นมิซซังโรมันคาธอลิค ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิคในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ. 128 อนุญาตให้มิซซังโรมันคาธอลิคคณะหนึ่ง ๆ มีฐานะเป็นหมู่คณะแยกต่างหาก เพื่อให้มีอำนาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยกฎหมายใช้ศัพท์ว่า บริษัท ในความหมายที่ว่า หมู่คณะแยกต่างหากจากกัน ดังที่ต่อมาเรียกว่า นิติบุคคล หาได้มีความหมายว่าบริษัทจำกัดไม่ ประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 65 บัญญัติว่า นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือประมวลกฎหมายอื่น ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น มีอำนาจทำสัญญาเช่า และฟ้องจำเลยได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8658 - 8686/2542 ตามบทบัญญัติมาตรา 65, 66 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ไม่ได้บัญญัติให้ยกเลิกมิซซังโรมันคาธอลิคว่าไม่เป็นนิติบุคคล แต่ได้บัญญัติรับรองไว้ว่านิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น และนิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่ หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง

โจทก์เป็นมิซซังโรมันคาธอลิคเป็นนิติบุคคลอยู่ก่อนแล้วตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิคในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ.128 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษยังใช้บังคับจนปัจจุบันนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายอื่นฉบับหนึ่งตามความหมายของ ป.พ.พ.มาตรา 65 โจทก์จึงย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอยู่ต่อไป